โครงการประชุมวิชาการประจำปี 2562 ชมรมบรรณารักษ์สถาบันอุดมศึกษา
เรื่อง บทบาทของห้องสมุดอุดมศึกษาในการจัดการข้อมูลวิจัย เพื่อสนับสนุนยุทธศาสตร์ของมหาวิทยาลัย
The academic library’s role in research data management to support university strategies
วันศุกร์ที่ 20 ธันวาคม 2562 เวลา 8.30 – 16.00 น.
จัดโดย ชมรมบรรณารักษ์สถาบันอุดมศึกษา ร่วมกับ สำนักงานวิทยทรัพยากร จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ณ ห้องประชุมชั้น 7 อาคารสำนักงานวิทยทรัพยากร จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
หลักการและเหตุผล
การวิจัยเป็นภารกิจสำคัญของมหาวิทยาลัย ทั้งนี้แต่ละขั้นตอนของการดำเนินการวิจัย นับตั้งแต่ก่อนเริ่มต้นโครงการ จนกระทั่งได้ผลงานวิจัย มีข้อมูลและเอกสารจำนวนมากที่เกี่ยวข้องกับการวิจัยเกิดขึ้น หากมีการจัดการข้อมูลวิจัย (Research Data management – RDM) ที่มีประสิทธิภาพ จะช่วยลดความเสี่ยงของการสูญหายของข้อมูล ช่วยอำนวยความสะดวกในแบ่งปันข้อมูลและการใช้ข้อมูลซ้ำในอนาคต ช่วยลดค่าใช้จ่ายในการเก็บรวบรวมข้อมูลชุดเดิม ช่วยเพิ่มเรื่องความโปร่งใสเกี่ยวกับกระบวนการและผลงานวิจัยฯ ทำให้การจัดการข้อมูลวิจัยที่มีประสิทธิภาพเป็นข้อกำหนดหนึ่งของหน่วยงานวิจัยและหน่วยงานที่ให้ทุนการวิจัยหลายแห่ง ทั้งนี้การจัดการข้อมูลวิจัยที่มีประสิทธิภาพมีประเด็นที่ควรคำนึงถึงหลากหลายประเด็นตลอดเส้นทางของการวิจัย
บทบาทที่สำคัญอย่างหนึ่งของห้องสมุดมหาวิทยาลัย คือการสนับสนุนการเรียนการสอนและการวิจัย ประกอบกับห้องสมุดเป็นหน่วยงานที่มีทักษะด้านมาตรฐานการลงรายการ การจัดเก็บและค้นคืนข้อมูล ซึ่งเป็นทักษะที่ใช้กับการจัดการข้อมูลวิจัยได้เป็นอย่างดี การจัดการประชุมในด้านการจัดการข้อมูลวิจัย จึงจะเป็นแนวทางให้ห้องสมุดได้เตรียมบทบาทในสนับสนุนการจัดการข้อมูลวิจัย
ชมรมบรรณารักษ์สถาบันอุดมศึกษา (ช.บ.อ.) สมาคมห้องสมุดแห่งประเทศไทย ฯ และสำนักงานวิทยทรัพยากร จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จึงเห็นควรจัดการประชุมวิชาการเพื่อให้บรรณารักษ์ นักเอกสารสนเทศ ผู้บริหาร และผู้ปฏิบัติงานในห้องสมุด ได้รับความรู้เรื่องข้อมูลวิจัย การจัดการข้อมูลวิจัย และแนวทางการให้ความช่วยเหลือและให้บริการเกี่ยวกับการจัดการข้อมูลวิจัย ต่อไป
วัตถุประสงค์ และ ผลที่คาดว่าจะได้รับ
1. เพื่อให้ผู้เข้าร่วมประชุมมีความรู้ ความเข้าใจ การจัดการข้อมูลวิจัย และตระหนักถึงการพัฒนาตน ให้เท่าทันกับนโยบายของมหาวิทยาลัยในเรื่องการจัดการข้อมูลวิจัยต่อไป
2. เพื่อให้ผู้เข้าร่วมประชุมได้แนวปฏิบัติที่ดีจากห้องสมุดที่มีบริการการจัดการข้อมูลวิจัย เพื่อนำไปประยุกต์ใช้
3. เพื่อให้ผู้เข้าร่วมประชุมได้รู้จัก ได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้ประสบการณ์ และเสริมสร้างความสัมพันธ์อันดีต่อกัน
ลงทะเบียน คลิก