ประวัติสมาคม

 

  

  

CLICK เพื่อดูเนื้อหาในรูปแบบ E-Book 

ที่มาของสมาคม

 

สมาคมห้องสมุดแห่งประเทศไทย ในพระราชูปถัมภ์สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ได้รับอนุญาตเป็นทางการให้ก่อตั้งได้เมื่อวันที่ 11 ตุลาคม 2497 ในระยะแรกได้รับความอนุเคราะห์จากท่านเจ้าคุณญาณวโรดม และ ม.จ.ชัชชวลิต เกษมสันต์ ต่อมาสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ รับไว้ในพระราชูปถัมภ์ เมื่อวันที่ 2 กันยายน 2519 มีที่ทำการอยู่ที่ถนนวิภาวดีรังสิต ซึ่งเป็นอาคารเช่ามีกำหนด 30 ปี ปัจจุบันได้ย้ายสำนักงานมาอยู่ ณ อาคารเลขที่ 1346 ถ.อาคารสงเคราะห์ 5 คลองจั่น บางกะปิ กทม. 10240 เป็นอาคารขนาด 4 ชั้น มีพื้นที่ 99 ตารางวา ภายในอาคารมีพื้นที่ใช้สอยประมาณ 400 ตรม. ต่อมาในปี 2547 สมาคมห้องสมุดแห่งประเทศไทยฯ ได้จัดซื้อบ้านพร้อมที่ดิน ขนาด 2 ชั้น มีพื้นที่ 87 ตารางวา ซึ่งอยู่บริเวณใกล้เคียงกับสมาคมห้องสมุดแห่งประเทศไทย

 

การดำเนินงานของสมาคมห้องสมุดแห่งประเทศไทยฯ โดยคณะกรรมการ 25 คน ซึ่งมาจากการเลือกตั้งของสมาชิกสมาคมห้องสมุดฯ ทั่วประเทศ มีวาระคราวละ 2 ปี มีการประชุมคณะกรรมการทุกเดือน เพื่อกำหนดกิจกรรมของสมาคมห้องสมุดแห่งประเทศไทยฯ โดยนายกสมาคมฯ หรืออุปนายก เป็นประธานการประชุมทุกครั้ง นอกจากนี้ได้จัดตั้งชมรมต่างๆ เพื่อ สร้างความสัมพันธ์อันดีระหว่างห้องสมุด และจัดให้มีการเยี่ยมชมห้องสมุดต่างๆ โดยหมุนเวียนสถานที่พบปะกัน หาลู่ทางในการยืมระหว่างห้องสมุด หาลู่ทางในการจัดกิจกรรมพิเศษ ตลอดจนแลกเปลี่ยนความคิดเห็นและช่วยกันแก้ปัญหา ประกอบด้วยชมรมต่างๆ

  

 

พันธกิจของสมาคม

 

สมาคมห้องสมุดแห่งประเทศไทยฯ ได้ทำหน้าที่เพื่อส่งเสริมความสามัคคีและเพื่อสงเคราะห์ซึ่งกันและกันในระหว่างสมาชิก ส่งเสริมการศึกษาและเผยแพร่วิทยาการ ส่งเสริมสถาบันห้องสมุดทั่วประเทศเพื่อให้เจริญวัฒนาถาวรยิ่งขึ้น การแลกเปลี่ยนความรู้ กับสมาคมห้องสมุดอื่นๆ ทั้งในและนอกประเทศ รักษาผลประโยชน์ของบรรณารักษ์และส่งเสริมฐานะของบรรณารักษ์เป็นที่มั่นคง เป็นแหล่งกลาง สำหรับรับการสนับสนุนจากบุคคลหรือองค์การใดๆ เพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ส่วนใหญ่ของสมาคมฯ ให้ความคิดเห็นในการจัดห้องสมุดแก่บุคคลหรือนิติบุคคล หรือองค์การใดๆ ซึ่งประสงค์จะดำเนินการจัดตั้งห้องสมุด รวมทั้งรายได้จากการจำหน่ายวัสดุ ครุภัณฑ์ห้องสมุด

 

  

โครงการสำคัญๆ ที่สมาคมห้องสมุดแห่งประเทศไทยฯ ได้ดำเนินการแล้ว

 

1. โครงการสำรวจความสนใจในการอ่านของไทยมุสลิมใน 4 จังหวัดภาคใต้

 

     ที่มาของโครงการเกิดขึ้นเมื่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ได้เสด็จเยี่ยมพสกนิกรภาคใต้ โดยเฉพาะ 4 จังหวัด คือ ยะลา ปัตตานี นราธิวาส และสตูล ปรากฎว่าราษฎรส่วนใหญ่ไม่เข้าใจภาษาไทย และไม่สามารถทำการติดต่อได้เท่าที่ควร และในวันที่ 23 มีนาคม พ.ศ. 2502 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ได้พระราชทานพระราชดำรัส ณ คุรุสัมมนาคาร จังหวัดยะลา มีใจความว่า "การศึกษาที่มีสำคัญมาก ให้พยายามจัดให้ดี ให้พลเมมืองสามารถพูดภาษาไทยได้ แม้จะพูดได้ไม่มากนัก เพียงแต่พอรู้เรื่องก็ยังดี เพราะเท่าที่ผ่านมาคราวนี้มีผู้ไม่รู้ภาษาไทย ต้องใช้ล่ามแปล ควรพูดให้เข้าใจกันได้ เพื่อสะดวกในการติดต่อซึ่งกันและกัน" สมาคมห้องสมุดแห่งประเทศไทยฯ รับสนองพระราชดำริ จึงได้ทำโครงการเพื่อส่งเสริมการศึกษาภาษาไทย เมื่อปีพ.ศ. 2504 โดยมูลนิธิเอเชีย ผู้สนับสนุนด้านการเงิน

 

  

2. โครงการปรับปรุงห้องสมุดโรงเรียน เป็นโครงการร่วมกับกระทรวงศึกษาธิการ

 

     เพื่อปรับปรุงห้องสมุดโรงเรียนมัธยมในส่วนกลางให้ได้มาตรฐาน โรงเรียนที่จะปรับปรุงคือ โรงเรียนที่มีห้องสมุดอยู่แล้ว มีบรรณารักษ์ที่มีวุฒิขั้นปริญญา และทำหน้าที่บรรณารักษ์อย่างเดียว ทางโรงเรียนพร้อมที่จะให้ความร่วมมือทางด้านการเงินเป็นบางส่วน โดยมีเงินอุดหนุนตามแนวที่จะดำเนินการปรับปรุง

 

  

3. โครงการอบรมนักเรียนช่วยงานห้องสมุด

 

     เนื่องจากห้องสมุดโรงเรียนโดยทั่วไปจะมีบรรณารักษ์ทำงานเพียงคนเดียว ทำให้การทำงาน ไม่ได้ผลเท่าที่ควร ดังนั้นสมาคมฯ จึงจัดโครงการอบรมนักเรียนช่วยงานห้องสมุด เพื่อให้นักเรียนได้รับความรู้เพิ่มขึ้นในเรื่องการใช้หนังสือและวัสดุต่างๆ และให้นักเรียนได้รับประสบการณ์ในการทำงานร่วมกับบรรณารักษ์ เพื่อให้บริการแก่ครู อาจารย์ และเพื่อนนักเรียนด้วยกัน และที่สำคัญก็เพื่อให้นักเรียนได้สำรวจความสนใจของตนเองเพื่อใช้เป็นแนวทาง สำหรับศึกษาวิชาชีพต่อไปในอนาคต

 

 

4. โครงการจัดนิทรรศการหนังสือสำหรับเด็กและผู้เยาว์

 

     โครงการนี้จัดขึ้นเพื่อชักจูง สนับสนุนเด็กให้รู้จักหนังสือ สนใจหนังสือและใช้ให้เป็น ประโยชน์ ส่งเสริมให้รักการอ่าน และเพื่อเป็นการช่วยครูและผู้ปกครองได้รู้จักหนังสือ สมาคมฯ จึงได้จัดทำรายชื่อหนังสือพร้อมบรรณนิทัศน์ บทคัดย่อ เผยแพร่ให้ครู นักเรียน และผู้สนใจ โดยจะหมุนเวียนไปยังจังหวัดต่างๆ ทั่วประเทศ ได้รับความช่วยเหลือทางการเงินจากองค์การยูเนสโกและมูลนิธิเอเชีย

 

  

  5. โครงการจัดงานสัปดาห์ห้องสมุด

 

     โครงการนี้จัดเป็นครั้งแรกเมื่อพ.ศ. 2519 โดยขอให้ทุกห้องสมุดจัดงานขึ้นพร้อมกันเป็นประจำทุกปี เพื่อแนะนำให้ผู้ใช้และคนทั่วไป รู้จักห้องสมุด ตลอดจนวิธีใช้ เพื่อประโยชน์ในการพัฒนาตนเองและบ้านเมือง วัตถุประสงค์ของโครงการฯ เพื่อเชิญชวนให้ประชาชนสนใจการอ่านหนังสือและการใช้ห้องสมุด และเพื่อให้โอกาสนักเรียน นักศึกษา ครู อาจารย์ และประชาชนทั่วไปมีส่วนร่วมในกิจการของสมาคมฯ ประการสุดท้ายก็เพื่อให้ผู้บริหารและผู้รับผิดชอบในการดำเนินงานห้องสมุด พิจารณาปรับปรุงห้องสมุดให้มีคุณภาพและประสิทธิภาพตามาตรฐานสากล โดยสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี องค์อุปถัมภ์ได้ทรงพระเมตตาประทาน  "คำขวัญห้องสมุด" ให้กับสมาคมฯ ดังนี้

 

โลกคือมนทิรแผ้ว           ไพศาล

 

ห้องหับสรรพโอฬาร       เลิศแล้

 

หนังสือดุจประแจทวาร    ไขสู่ ห้องนา

 

จักพบรัตนแท้               ก่องแก้ววิทยา

 

  

6. โครงการจัดงานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติ

 

     เป็นโครงการฯ ที่จัดเนื่องในโอกาสเฉลิมฉลองปีหนังสือสากล เมื่อพ.ศ. 2515 องค์ การยูเนสโก ให้ความช่วยเหลือและเพื่อให้สมจริงกับการเป็นสัปดาห์หนังสือแห่งชาติ สมาคมฯ จึงมีนโยบายให้ห้องสมุดทุกจังหวัด     จัดงานขึ้นพร้อมกันโดยมอบเงินให้ทุกจังหวัดจำนวนหนึ่ง ในขณะเดียวกันทางจังหวัดก็ให้เงินสมทบด้วย ทำให้งานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติ พ.ศ. 2518 ประสบความสำเร็จเป็นอย่างดี และเพื่อให้โครงการนี้เป็นโครงการต่อเนื่อง สมาคมฯ จึงเสนอให้กระทรวงศึกษาธิการ รับโครงการนี้ไปดำเนินการ ร่วมกับ โครงการศูนย์พัฒนาหนังสือแห่งชาติ ของกระทรวงศึกษาธิการ

 

  

7. โครงการประกาศเกียรติคุณแก่ผู้มีอุปการะคุณและสนับสนุนกิจการห้องสมุด

 

     โครงการฯ นี้เริ่มเมื่อพ.ศ.2524 เพื่อเป็นการแสดงปฏิภาระตอบแทนกรรมการของสมาคมฯ และผู้สนับสนุนกิจการห้องสมุด โดยมอบ "โล่" แสดงความระลึกถึงและขอบคุณที่ได้มีส่วนร่วมในการก่อตั้ง หรือช่วยพัฒนากิจการของสมาคมฯ โดยสมเด็จพระเทพฯ องค์อุปถัมภ์ของสมาคมฯ จะพระราชทานโล่ในการประชุมใหญ่สามัญประจำปี

 

  

8. โครงการคัดเลือกห้องสมุดดีเด่น

 

     โครงการฯนี้ เริ่มดำเนินการตั้งแต่ปีพ.ศ. 2524 ประเภทของห้องสมุดดีเด่นที่คัดเลือก และได้รับรางวัลแล้วคือ ห้องสมุดโรงเรียน ห้องสมุดประชาชน และห้องสมุดเฉพาะ สำหรับห้องสมุดดีเด่นประเภทมหาวิทยาลัย หรือสถาบันอุดมศึกษา ยังไม่ปรากฎว่ามีสถาบันใดได้รับ

 

  

9. โครงการเผยแพร่วิชาบรรณารักษศาสตร์ทางวิทยุโทรทัศน์

 

     เป็นโครงการแนะนำหนังสือและกิจการสำคัญๆ เพื่อให้บรรณารักษ์และประชาชนทั่วไป ได้รู้จักหนังสือดี ตลอดจนกิจกรรมที่น่าสนใจของสมาคมฯ

 

 

10. โครงการวิจัยบรรณารักษศาสตร์และสารนิเทศศาสตร์

 

     โครงการฯนี้เกิดขึ้นเพราะการวิจัยมีความสำคัญต่อวิชาชีพบรรณารักษศาสตร์และสารนิเทศศาสตร์ เพราะนอกจากจะทำให้เกิดการพัฒนาทางวิชาการแล้ว ยังสามารถนำมาใช้ในการพัฒนาวิชาชีพในการวางแผนและการตัดสินใจ แผนงานของแผนกวิจัยและพัฒนาที่สำคัญๆ คือ จัดทำข่าวสาร จัดทำฐานข้อมูลงานวิจัยฯ จัดการประชุม บรรยาย และอภิปราย จัดทำคอลัมน์ประจำในวารสารห้องสมุด จัดตั้งหน่วยประสานงานสนับสนุนทุนวิจัย เป็นต้น โดยสมาคมฯ สนับสนุนทุนอุดหนุนเพื่อการทำวิจัยเกี่ยวกับเรื่องของสมาคมห้องสมุดฯ วิชาชีพบรรณารักษ์และสารนิเทศศาสตร์ จำนวน 1 ทุน วงเงิน 20,000 บาท

 

 

11. การจัดตั้งชมรม ในสมาคมห้องสมุดแห่งประเทศไทย

 

     ในการประชุมใหญ่สามัญประจำปี พ.ศ. 2523 ได้แก้ไขข้อบังคับของสมาคมฯ โดยดำเนินการตามข้อบังคับ หมวดที่ 3 ชมรมว่าด้วยการจัดตั้งชมรมในสังกัดสมาคมฯ ซึ่งส่งเสริมให้มีการจัดตั้งชมรมแยกประเภทห้องสมุด มีชมรมด้วยกัน คือ

 

  • ชมรมบรรณารักษ์สถาบันอุดมศึกษา (ชบอ.)
  • ชมรมผู้สอนวิชาบรรณารักษ์ศาสตร์ (ชสบ.)
  • ชมรมห้องสมุดเฉพาะ (ชพ.)
  • ชมรมบรรณารักษ์ห้องสมุดโรงเรียน (ชบร.)
  • ชมรมบรรณารักษ์ห้องสมุดประชาชน (ชปช.)
  • ชมรมห้องสมุดเพื่อการอาชีวศึกษาและเทคโนโลยี (ชหท.)
  • ชมรมเพื่อหอสมุดแห่งชาติ (ชหช.)
  • ชมรมบรรณารักษ์และนักเอกสารสารสนเทศนานาชาติ (ชนช.)

 

     กล่าวโดยสรุป ตลอดระยะเวลา 58 ปีที่ผ่านมา สมาคมห้องสมุดแห่งประเทศไทยฯ ได้ทำหน้าที่เกื้อกูลสังคมอย่างสมบูรณ์แบบที่สุด ได้มีส่วนช่วยเสริมสร้างเยาวชนให้เป็นทรัพยากรมนุษย์ที่มีคุณค่า โดยส่งเสริมการอ่าน ผลิตหนังสือทางวิชาบรรณารักษศาสตร์ และสาขาที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้ความรู้ใหม่ๆ ในวิชาชีพและทั่วไป วางรากฐานวิชาชีพบรรณารักษศาสตร์ไว้อย่างมั่นคง ด้วยการพัฒนาบุคลากรทางด้านนี้อย่างต่อเนื่อง เพื่อสร้างผู้ปฏิบัติงานรุ่นใหม่ให้สามารถดำเนินงานด้านนี้อย่างมีประสิทธิภาพ

ติดต่อเรา


ที่อยู่: ๑๓๔๖ ถนนอาคารสงเคราะห์ ๕ คลองจั่น บางกะปิ กรุงเทพฯ ๑๐๒๔
โทร : ๐-๒๗๓๔-๙๐๒๒, ๐๘๙-๘๙๓-๙๓๙๗ 
โทรสาร : ๐-๒๗๓๔-๙๐๒๑ www.tla.or.th
ID Line : tla2497

{source}<