ชมรมห้องสมุดเฉพาะ (ชพ.)

ประวัติ

ชมรมห้องสมุดเฉพาะจัดตั้งขึ้น เมื่อเดือนธันวาคม พ.ศ. 2524 จากการประชุมสามัญ ประจำปีของสมาคมห้องสมุดแห่งประเทศไทยฯ ตามมติที่ประชุมกลุ่มย่อยชมรมห้องสมุด เฉพาะ สมควรให้มีการจัดตั้งชมรมห้องสมุดเฉพาะ โดยมีวัตถุประสงค์ เพื่อให้ บรรณารักษ์และผู้ที่อยู่ในวงการห้องสมุดเฉพาะ ได้มีฌอกาสพบปะ แลกเปลี่ยนความคิด เห็น และประสบการณ์ในการทำงาน ซึ่งที่ประชุมได้คัดเลือกบุคคลจำนวน 7 คน จาก หลากหลายหน่วยงานเป็นคณะทำงานชั่วคราว เพื่อดำเนินการจัดตั้งชมรมห้องสมุดเฉพาะ และจัดทำร่างข้อบังคับของชมรมฯ
ต่อมา ในปี พ.ศ. 2525 คณะทำงานชั่วคราวได้นำเสนอร่าง "ข้อบังคับชมรมห้องสมุด เฉพาะ พ.ศ. 2526" เสนอในที่ประชุมใหญ่สามัญประจำปี 2525 ของสมาคมห้องสมุด แห่งประเทศไทย เพื่อให้ที่ประชุมพิจารณาและยอมรับร่างข้อบังคับฯ แล้วทำกาคัดเลือก คณะกรรมการบริหารชมรมห้องสมุดเฉพาะ ประจำปี พ.ศ. 2526-2527 ได้กรรมการ จำนวน 15 คน

คณะกรรมการบริหารชมรมห้องสมุดเฉพาะ

มาตรฐาน

มาตรฐานห้องสมุดเฉพาะ พ.ศ. 2553

 

ข้อบังคับ

ข้อบังคับของชมรมห้องสมุดเฉพาะ พุทธศักราช2559

เนื่องด้วยห้องสมุดเฉพาะมีลักษณะที่แตกต่างไปจากห้องสมุดประเภทอื่น กล่าวคือ  เป็นห้องสมุดเฉพาะสาขาวิชาหลายแขนงแตกต่างกันและมีอยู่เป็นจำนวนมาก ถ้าได้มีการรวมตัวกันประกอบกิจกรรมร่วมกันจะทำให้สามารถใช้ทรัพยากรที่มีอยู่ร่วมกันได้ เพื่อประหยัดงบประมาณและส่งเสริมให้เกิดความร่วมมือระหว่างบุคลากรห้องสมุดเฉพาะ ตลอดจนเสริมสร้างความสามัคคีให้เกิดขึ้นแก่บุคลากรในวิชาชีพ จึงเห็นสมควรจัดตั้งเป็นชมรมขึ้นมีชื่อว่า “ชมรมห้องสมุดเฉพาะ” โดยกำหนดข้อบังคับของชมรม ดังต่อไปนี้

              ข้อ 1.  ข้อบังคับนี้เรียกว่า “ข้อบังคับของชมรมห้องสมุดเฉพาะ พุทธศักราช 2559”

              ข้อ 2.  ให้ใช้ข้อบังคับนี้ตั้งแต่วันที่ถัดจากวันประกาศใช้เป็นต้นไป

              ข้อ 3.  ให้ยกเลิกข้อบังคับของชมรมห้องสมุดเฉพาะที่มีก่อนหน้านี้เสียทั้งสิ้น

              ข้อ 4. ในข้อบังคับนี้ คำว่า

“ชมรม” หมายถึง ชมรมห้องสมุดเฉพาะ

            “สมาคม” หมายถึง สมาคมห้องสมุดแห่งประเทศไทย ในพระราชูปถัมภ์สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี

              “ห้องสมุดเฉพาะ” หมายถึง ห้องสมุด ศูนย์เอกสาร ศูนย์บรรณสาร หรือเรียกชื่ออื่นที่ให้บริการในกลุ่มวิชาเฉพาะสาขาใด สาขาหนึ่ง เป็นแหล่งรวบรวมทรัพยากรสารสนเทศเฉพาะสาขาวิชา ให้บริการแก่ผู้ใช้เฉพาะกลุ่มหรือบางกลุ่มซึ่งเป็นผู้ที่ทำงานหรือศึกษาในสาขาวิชานั้น ๆ ส่วนใหญ่จะเป็นส่วนหนึ่งของหน่วยงานราชการ องค์กรวิจัย องค์การ บริษัทเอกชน หรือธนาคาร เป็นต้น ทำหน้าที่จัดหาหนังสือ และให้บริการความรู้ ข้อมูล และข่าวสารเฉพาะเรื่องที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินงานของหน่วยงานนั้น ๆแบ่งออกเป็นประเภทต่างๆ ดังนี้ 1.ห้องสมุดหน่วยราชการ สังกัด กระทรวง ทบวง กรม กองต่าง ๆ 2.ห้องสมุดของสถาบันเพื่อการค้นคว้าวิจัย 3.ห้องสมุดของรัฐวิสาหกิจ 4.ห้องสมุดของสมาคมวิชาชีพ 5.ห้องสมุดของธนาคารและสถาบันการเงิน 6.ห้องสมุดองค์กรระหว่างประเทศ 7.ห้องสมุดเฉพาะสาขาวิชา หรือ บริการเฉพาะกลุ่มบุคคล

              ข้อ 5.  ให้คณะกรรมการบริหารของชมรมรักษาการให้เป็นไปตามข้อบังคับนี้และมีอำนาจออกระเบียบใด ๆ ได้ภายในขอบเขตแห่งข้อบังคับนี้ และไม่ขัดต่อข้อบังคับของสมาคม ด้วย 

หมวดที่ 1

ข้อความทั่วไป
              ข้อ 6.  ชมรมนี้ชื่อว่า “ชมรมห้องสมุดเฉพาะ” ใช้อักษรย่อว่า “ชพ” เรียกชื่อเป็นภาษาอังกฤษว่า

 “Thai Special Libraries Group” ใช้อักษรย่อว่า “TSLG”สาเหตุที่ต้องเพิ่ม T เนื่องจากไปพ้องกับอักษรย่อของชมรมห้องสมุดโรงเรียน จึงขอเปลี่ยนเป็น TSLG ตั้งแต่วันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2559 เป็นต้นไป

              ข้อ 7.  ชมรมนี้เป็นชมรมในสังกัดของสมาคมห้องสมุดแห่งประเทศไทย ในพระราชูปถัมภ์สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี

              ข้อ 8.  เครื่องหมายของชมรมเป็นรูปวงกลมซ้อนกัน 2 วง วงกลมในมีรูปหนังสือเปิดอยู่ตรงกลาง ด้านบนมีเทียนไข ส่งประกายรัศมีโดยรอบ ด้านล่างรูปหนังสือมีอักษร ชพ วงกลมวงนอกด้านบนมีข้อความว่า “ชมรมห้องสมุดเฉพาะ”   ส่วนด้านล่างมีข้อความภาษาอังกฤษว่า “Thai Special Libraries Group” ระหว่างข้อความทั้งสองคั่นด้วยข้อความที่ระบุถึงปีที่ก่อตั้งชมรมทั้งพุทธศักราช (2526) และคริสตศักราช (1983)

              ข้อ 9.  สำนักงานของชมรมตั้งอยู่ที่สมาคมห้องสมุดแห่งประเทศไทยฯ    

              ข้อ 10.  ชมรมมีวัตถุประสงค์ ดังต่อไปนี้                                                                          

                        10.1  สร้างความสัมพันธ์ ส่งเสริมความร่วมมือระหว่างห้องสมุดเฉพาะและสมาชิก

                        10.2  เผยแพร่ แลกเปลี่ยนความรู้ความคิดเห็นและประสบการณ์ทางวิชาการระหว่างสมาชิก ส่งเสริมการเรียนรู้  และพัฒนาทักษะในวิชาชีพของบรรณารักษ์ นักเอกสารสนเทศ และเจ้าหน้าที่  ห้องสมุดเฉพาะทุกสาขา

                        10.3  เป็นแหล่งกลางในการรับและสนับสนุนจากบุคคล  นิติบุคคล  องค์กรหรือสถาบันต่าง ๆ เพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ของชมรม

                        10.4  ไม่เกี่ยวข้องกับการเมือง

หมวดที่ 2

สมาชิก

            ข้อ. 11.  สมาชิกของชมรมมี 5  ประเภท คือ

                        11.1  สมาชิกสามัญ ได้แก่  บุคคลผู้เป็นหรือเคยเป็นบรรณารักษ์ห้องสมุดประเภทต่าง ๆ หรือนักเอกสารสนเทศ

                        11.2  สมาชิกวิสามัญ ได้แก่ บุคคลที่สนใจในกิจกรรมของชมรม ซึ่งคณะกรรมการบริหารมีมติรับเป็นสมาชิกวิสามัญ

11.3 สมาชิกกิตติมศักดิ์ ได้แก่ บุคคลที่ทำประโยชน์ต่อวงการห้องสมุดและบริการสารสนเทศตรงตามจุดมุ่งหมายของชมรม และคณะกรรมการบริหารชมรม มีมติให้เชิญเป็นสมาชิกกิตติมศักดิ์

                        11.4  สมาชิกอุปการะ  ได้แก่  บุคคลหรือนิติบุคคลที่ให้ความอุปการะแก่ชมรม และคณะกรรมการบริหารชมรมมีมติให้เชิญเป็นสมาชิกอุปการะ

                        11.5สมาชิกนิติบุคคล ได้แก่ คณะบุคคล สถาบัน หรือองค์กรซึ่งมีฐานะเป็นนิติบุคคลที่มีความสนใจในกิจการในสาขาวิชาชีพบรรณารักษศาสตร์  สารสนเทศศาสตร์ หรือ สารนิเทศศาสตร์  และคณะกรรมการบริหารมีมติรับเป็นสมาชิกวิสามัญ

            ข้อ 12.  การสมัครเป็นสมาชิก ให้ปฏิบัติตามข้อบังคับส่วนที่ 2 วิธีรับสมัครสมาชิกและการขาดจากสมาชิกภาพ ของสมาคม

                        12.1 สมาชิกภาพของผู้สมัครสมาชิกชมรมมีผลตั้งแต่วันที่คณะกรรมการบริหารสมาคมประชุมและมีมติรับรอง

                        12.2 กรณีสมาชิกในข้อ 11.2-11..5 ชมรมต้องแจ้งรายชื่อให้คณะกรรมการบริหารสมาคมทราบและมีมติรับรอง

            ข้อ 13 การนับจำนวนปีของสมาชิกภาพให้เป็นไปตามรอบปีสมัคร

            ข้อ 14.  อัตราค่าสมาชิก

ให้เป็นไปตามข้อบังคับของสมาคม ทั้งนี้ อัตราค่าสมาชิกอาจเปลี่ยนแปลงตามความเหมาะสม

            ข้อ 15.  สมาชิกมีสิทธิและหน้าที่ตามข้อบังคับของสมาคม และมีสิทธิดังต่อไปนี้

                       15.1  ได้รับสิทธิประโยชน์จากชมรมตามเงื่อนไขที่ชมรมกำหนดไว้

                       15.2 เสนอความคิดเห็นเกี่ยวกับกิจการของชมรมต่อคณะกรรมการบริหารภายในขอบเขตแห่งวัตถุประสงค์และข้อบังคับของชมรม

                       15.3 สมาชิกสามัญมีสิทธิเลือกตั้งเป็นกรรมการบริหาร

                       15.4 อภิปราย เสนอความคิดเห็น ตั้งกระทู้ถาม และลงคะแนนเสียงในที่ประชุมใหญ่

                       15.5 เข้าร่วมกิจกรรมที่ชมรมจัดขึ้น หรือจัดร่วมกับหน่วยงาน องค์กรอื่น ๆ

            ข้อ 16 สมาชิกมีหน้าที่ ดังต่อไปนี้

                        16.1 ปฏิบัติตามข้อบังคับ ระเบียบ และประกาศของชมรม

                        16.2 ปฏิบัติภารกิจในนามของชมรม เมื่อได้รับมอบหมายจากประธานชมรม หรือคณะกรรมการบริหารเป็นลายลักษณ์อักษร

                        16.3 ปฏิบัติตามจรรยาบรรณบรรณารักษ์ นักสารสนเทศ และผู้ประกอบวิชาชีพงานสารสนเทศ

                        16.4 รับผิดชอบชำระหนี้สินที่ตนมีต่อชมรม

             ข้อ 17.  การนับปีของสมาชิกภาพรายปีเริ่มจากวันที่รับสมัครเป็นไปตามปีปฏิทิน

             ข้อ 18.  สมาชิกภาพของสมาชิกสิ้นสุดลงในกรณีใดกรณีหนึ่งดังต่อไปนี้

                        18.1  ตาย

                        18.2  ถูกศาลสั่งให้เป็นคนไร้ความสามารถ หรือเสมือนไร้ความสามารถ

                        18.3  ลาออก

                        18.4  สิ้นสุดการเป็นสมาชิกภาพของสมาคมห้องสมุดแห่งประเทศไทยฯ

                        18.5  ประพฤติเสื่อมเสียและทำให้ชมรมเสียหายหรือเสียชื่อเสียง ซึ่งคณะกรรมการบริหารของชมรมลงมติให้ออก โดยคะแนนเสียงไม่น้อยกว่า สองในสามของคณะกรรมการบริหารทั้งหมด การสิ้นสุดแห่งสมาชิกภาพ ให้ประกาศไว้ ณ สำนักงานของชมรมและแจ้งให้ผู้สิ้นสุดสมาชิกภาพนั้นทราบเป็นลายลักษณ์อักษร

หมวดที่ 3

กรรมการบริหาร

          ข้อ 19.  กรรมการบริหารของชมรมมาจากการเลือกตั้งหรือการเสนอแนะ มีจำนวนไม่น้อยกว่า 9 คน และไม่เกิน 15 คน

          ข้อ 20.  สมาชิกสามัญมีสิทธิลงคะแนนเสียงเลือกตั้งและเป็นกรรมการบริหารชมรม

          ข้อ 21.  การเลือกตั้งคณะกรรมการบริหารชมรมให้ปฏิบัติตามวิธีการดังนี้

                       21.1 ในการประชุมใหญ่สามัญประจำปี ปีแรกของคณะกรรมการบริหารชมรมฯ ให้ที่ประชุมเลือกกรรมการเสนอแนะจำนวน 3 คน จากสมาชิกสามัญของชมรมเพื่อเสนอชื่อผู้สมควรได้รับการเลือกตั้งเป็นกรรมการบริหารชมรม ผู้ดำรงตำแหน่งกรรมการบริหารชมรม ขณะนั้น จะร่วมเป็นกรรมการเสนอแนะมิได้

                       21.2 ให้กรรมการเสนอแนะจัดทำบัญชีรายชื่อสมาชิกชมรมที่ยินยอมให้เสนอชื่อและส่งบัญชีรายชื่อให้สมาชิกผู้มีสิทธิเลือกตั้ง พร้อมทั้งบัตรเลือกตั้งที่ทางชมรมฯกำหนดไว้สำหรับลงคะแนน ทั้งนี้กรรมการเสนอแนะไม่สามารถรับเป็นผู้รับการคัดเลือกเป็นกรรมการบริหารชมรมในปีนั้นได้

                       21.3 ให้สมาชิกเลือกตั้งกรรมการบริหารตามข้อ19 จากรายชื่อของกรรมการเสนอแนะโดยวิธีลงคะแนนลับ

                       21.4 สมาชิกแต่ละรายลงคะแนนเสียงในบัตรเลือกตั้งได้หนึ่งบัตร ปิดผนึกส่งให้ประธานกรรมการเสนอแนะภายในเวลาที่กำหนด

          ข้อ 22.  กรรมการเสนอแนะรวบรวมบัตรเลือกตั้งทั้งหมด เพื่อตรวจนับคะแนนบัตรเลือกตั้ง และเสนอผลการนับคะแนนต่อคณะกรรมการบริหารของชมรม

          ข้อ 23. ในการจัดทำบัญชีสมาชิกชมรมที่ยินยอมให้เสนอชื่อ หากกรรมการเสนอแนะเสนอชื่อมาอย่างน้อย 9 คน และไม่เกิน 15 คน ให้กรรมการเสนอแนะนำรายชื่อดังกล่าว มอบให้คณะกรรมการบริหารชมรม เพื่อแจ้งให้สมาชิกทราบเป็นลายลักษณ์อักษรโดยไม่จำเป็นต้องมีการเลือกตั้ง

          ข้อ 24.ให้คณะกรรมการบริหารชุดใหม่ เลือกบุคคลในคณะดำรงตำแหน่งดังต่อไปนี้

                      24.1 ประธานชมรม มีหน้าที่รับผิดชอบควบคุมการบริหารกิจการงานชมรมให้เป็นไปตามข้อบังคับของชมรม เป็นตัวแทนชมรมในการติดต่อกิจการงานกับองค์กร หรือบุคคลภายนอก เป็นประธานการประชุมกรรมการบริหารและการประชุมใหญ่ รวมทั้งมีอำนาจหน้าที่อื่น ๆ ตามที่ระบุไว้ในข้อบังคับ

                      24.2 รองประธาน มีหน้าที่เป็นผู้ช่วยประธานทำการแทนประธานเมื่อได้รับมอบหมาย หรือเมื่อประธานไม่อาจปฏิบัติหน้าที่ได้ ทั้งนี้ อาจมีรองประธานได้มากกว่า 1 คน ตามที่คณะกรรมการบริหารชุดนั้นๆ เห็นเหมาะสม

                      24.3 เลขานุการ มีหน้าที่ดำเนินงานด้านธุรการ และกิจการบริหารโดยทั่วไปของชมรม จัดทำและรักษา ระเบียบวาระและรายงานการประชุม

                      24.4 เหรัญญิก มีหน้าที่บริหารการเงินและทรัพย์สินของชมรม ทำบัญชีและทะเบียนทรัพย์สิน

                      24.5 นายทะเบียน มีหน้าที่รับสมัคร จัดทำและรักษาทะเบียนสมาชิก รวมทั้งติดตามสภาพการเป็นสมาชิก

                      24.6 ปฏิคม มีหน้าที่ต้อนรับ อำนวยความสะดวกแก่สมาชิกเมื่อมีการจัดกิจกรรมต่าง ๆ

                      24.7 ประชาสัมพันธ์ มีหน้าที่เผยแพร่กิจการของชมรม

                      24.8 วิชาการ มีหน้าที่จัดกิจกรรมทางวิชาการ ทั้งนี้ตำแหน่งในข้อ 24.3-24.8 อาจมีตำแหน่งผู้ช่วยได้เท่าที่จำเป็น

                      24.9 หรือกรรมการตำแหน่งอื่น ๆ ตามที่สมาคมกำหนด อาทิเช่น แผนกวารสารและสื่อสิ่งพิมพ์ หาทุน วิเทศสัมพันธ์

                      24.10 ให้คณะกรรมการบริหารชมรมนำเสนอรายชื่อและตำแหน่งของคณะกรรมการบริหารชมรมชุดใหม่ ต่อคณะกรรมการบริหารสมาคมภายในหนึ่งเดือน ก่อนการประชุมใหญ่ประจำปีของสมาคม เพื่อจะได้เข้าร่วมเสนอชื่อ ประธานชมรม เป็นกรรมการบริหารสมาคม

          ข้อ 25.  คณะกรรมการบริหารอยู่ในตำแหน่งวาระหนึ่งมีกำหนด 2 ปีวาระในการดำรงตำแหน่งของประธานชมรม ให้ดำรงตำแหน่งได้คราวละไม่เกิน 2 วาระ ติดต่อกัน

          ข้อ 26.  กรรมการบริหารสิ้นสุดลงเมื่อเหตุใดเหตุหนึ่งดังต่อไปนี้

                     26.1 ตาย

                     26.2 ลาออก

                     26.3 ออกตามวาระ

                     26.4 ถูกศาลสั่งให้เป็นบุคคลล้มละลาย เป็นคนไร้ความสามารถ หรือเสมือนไร้ความสามารถ

                     26.5 ขาดจากสมาชิกภาพ

                     26.6 ที่ประชุมคณะกรรมการบริหารชมรมมีมติให้ออกด้วยคะแนนเสียงไม่น้อยกว่าสองในสามของคณะกรรมการบริหารทั้งหมด

           ข้อ 27.  ถ้ากรรมการบริหารตำแหน่งใดว่างลง เพราะเหตุอื่นที่ไม่ใช่หมดวาระ ให้คณะกรรมการบริหารลงมติแต่งตั้งสมาชิกผู้ที่ได้คะแนนลำดับถัดไป ดำรงตำแหน่งที่ว่างแทน และให้มีอายุเพียงเท่าวาระของกรรมการผู้ที่ตนแทน

           ข้อ 28.การส่งมอบงานของคณะกรรมการบริหาร ให้กระทำภายในกำหนดหนึ่งเดือน นับจากได้เสนอรายชื่อและตำแหน่งของคณะกรรมการบริหารชมรมชุดใหม่ต่อคณะกรรมการบริหารสมาคม

           ข้อ 29.  คณะกรรมการบริหารมีอำนาจและหน้าที่ดังต่อไปนี้

                     29.1 กำหนดนโยบายและดำเนินงานให้เป็นไปตามข้อบังคับของชมรม

                     29.2 แต่งตั้งที่ปรึกษาชมรมไม่เกิน 2 คน โดยเลือกจากอดีตประธานชมรม  

                     29.3 แต่งตั้งสมาชิกเป็นอนุกรรมการเฉพาะกิจเพื่อดำเนินการอย่างใดอย่างหนึ่ง

                     29.4 ประชุมปรึกษาหารือเพื่อดำเนินงานของชมรมอย่างน้อย 2 เดือน ต่อครั้ง

                     29.5 รับผิดชอบแทนชมรมในการกระทำใด ๆ ที่อยู่ในขอบเขตข้อบังคับและระเบียบชมรม

                     29.6 พิจารณาคำร้อง คำขอต่าง ๆ ของสมาชิกและพิจารณาสั่งการและดำเนินการตามที่เห็นสมควร

                     29.7 พิจารณาเชิญบุคคล นิติบุคคล องค์กรหรือสถาบันเป็นสมาชิกกิตติมศักดิ์ / อุปการะของชมรม        

                     29.8 พิจารณาและดำเนินการต่าง ๆ เกี่ยวกับสมาชิกภาพของสมาชิกตามที่กำหนดไว้ในข้อ 15 และ ข้อ 16

                     29.9 รักษาทรัพย์สินและผลประโยชน์ของชมรมมิให้เสียหาย

                     29.10 เรียกประชุมใหญ่สามัญและวิสามัญตามที่กำหนดไว้ในข้อบังคับ

                     29.11 ทำรายงานกิจการของชมรมในรอบปี บัญชีการรับและการจ่ายเงิน บัญชีทรัพย์สินและหนี้สิน งบดุล และเก็บรวบรวมหลักฐานการเงินให้เรียบร้อย

หมวดที่ 4

การประชุม

         ข้อ 30.  ให้มีการประชุมใหญ่สามัญประจำปีของชมรมปีละ 1 ครั้ง ตามหลักเกณฑ์และวิธีการ ดังนี้

                     30.1 ในการประชุมต้องมีสมาชิกมาประชุมไม่น้อยกว่ายี่สิบคน และต้องมีกรรมการบริหารมาประชุมไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนกรรมการบริหารทั้งคณะจึงจะถือว่าครบองค์ประชุม

                     30.2 ให้ประธานชมรมเป็นประธานในที่ประชุม

                     30.3 ในกรณีที่ประธานชมรมไม่มาประชุม หรือมาแต่ไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้ ให้รองประธานเป็นประธานในที่ประชุม                                                                               

                     30.4 ในกรณีทั้งประธานและรองประธานไม่มาประชุมหรือมาแต่ไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้ให้สมาชิกที่มาประชุมเลือกกรรมการบริหารคนใดคนหนึ่งเป็นประธานในที่ประชุม  

                     30.5 การลงมติ สมาชิกมีสิทธิออกเสียงคนละ 1 เสียง และให้ถือคะแนนเสียงข้างมากเป็นเกณฑ์ตัดสินชี้ขาดในกรณีที่คะแนนเสียงเท่ากันให้ประธานในที่ประชุมลงคะแนนเสียงเพิ่มได้อีก 1 เสียง

          ข้อ 31.  กำหนดการประชุมใหญ่วิสามัญ เมื่อคณะกรรมการบริหารเห็นสมควร หรือเมื่อสมาชิกมีจำนวนรวมกันไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกทั้งหมด โดยมีสมาชิกสามัญไม่น้อยกว่าหนึ่งในห้ายื่นคำร้องขอให้มีการประชุมใหญ่วิสามัญ คณะกรรมการบริหารต้องเรียกประชุมภายในไม่เกิน 1 เดือนนับตั้งแต่ได้รับคำร้องขอ

          ข้อ 32. การประชุมคณะกรรมการบริหารต้องมีประธานหรือรองประธานมาประชุมและมีกรรมการบริหารอื่น ๆ อีก รวมแล้วไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งมาประชุม จึงจะถือว่าครบองค์ประชุม ประธานคณะกรรมการบริหาร เป็นประธานในที่ประชุมในกรณีที่ประธานไม่มาประชุม หรือมาแต่ไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้ให้รองประธานเป็นประธานในที่ประชุม การลงมติ ให้ถือคะแนนเสียงข้างมาก ในกรณีที่คะแนนเสียงเท่ากัน ให้ประธานในที่ประชุมเป็นผู้ชี้ขาด 

หมวดที่ 5

ทรัพย์สิน

          ข้อ 33.  ชมรมมีรายได้และทรัพย์สิน ดังนี้

                      33.1 ค่าบำรุงที่สมาคม จัดสรรให้

                      33.2 รายได้ที่เกิดจากการจัดกิจกรรม

                      33.3 ทรัพย์สินที่มีผู้บริจาคให้โดยไม่มีภาระผูกพัน ถ้าการบริจาคให้นั้นมีภาระผูกพัน จะรับได้ต่อเมื่อคณะกรรมการบริหารมีมติให้รับ

                      33.4 ดอกผลอันเกิดจากทรัพย์สินของชมรม

                      33.5 รายได้อื่น ๆ

           ข้อ 34.  เงินของชมรม ให้ฝากธนาคารในนามของชมรมห้องสมุดเฉพาะหรือในนามกรรมการอย่างน้อย 3 คน ประกอบด้วย ประธาน รองประธาน และ เหรัญญิก ในการเบิกถอน จะต้องมีการลงนามโดยผู้มีอำนาจลงนามไม่น้อยกว่าสองในสามคนของกลุ่มบุคคลดังกล่าว

           ข้อ 35.  ให้ประธานมีอำนาจสั่งจ่ายเงินได้ครั้งละไม่เกิน 20,000 บาท ถ้าเกินจำนวนดังกล่าวต้องได้รับอนุมัติจากคณะกรรมการบริหารของชมรม

           ข้อ 36.  ให้เหรัญญิก มีอำนาจเก็บเงินสำรองจ่ายได้ครั้งละไม่เกิน 5,000 บาท

           ข้อ 37.  ให้เหรัญญิกทำบัญชีแสดงฐานะการเงินประจำเดือนเสนอต่อคณะกรรมการบริหารทุกครั้งที่มีการประชุม

           ข้อ 38.  ให้ถือเอาวันที่ 31 มีนาคม ของทุกปีเป็นวันสิ้นปีการเงินของชมรม และให้คณะกรรมการบริหารจัดทำรายงานกิจการของชมรมในรอบปี บัญชีการรับและการจ่ายเงิน บัญชีทรัพย์สินและหนี้สิน เสนอต่อที่ประชุมใหญ่สามัญ ประจำปีของชมรม

                       38.1 ให้ประธานชมรม เลขานุการ และเหรัญญิก จัดเตรียม เอกสาร ทรัพย์สิน บัญชีธนาคาร ส่งมอบให้แก่คณะกรรมการชมรมชุดใหม่ ภายใน 31 มีนาคม

หมวดที่ 6

เบ็ดเตล็ด

           ข้อ 39.  การแก้ไขเพิ่มเติมข้อบังคับของชมรมจะกระทำได้ในการประชุมใหญ่ของชมรมด้วยคะแนนเสียงข้างมากและนำเสนอสมาคม เพื่อให้คณะกรรมการบริหารของสมาคม รับทราบ

           ข้อ 40. ชมรมอาจเลิกกิจการ เพราะเหตุต่อไปนี้                                 

                      40.1 ที่ประชุมใหญ่สามัญประจำปีของชมรมมีมติให้เลิก หรือ

                      40.2 คณะกรรมการบริหารของสมาคม มีมติให้เลิก ด้วยคะแนนเสียงสองในสามของคณะกรรมการบริหารทั้งหมด หรือ

                      40.3 สมาคมเลิกกิจการ

            ข้อ 41. ในกรณีที่ชมรมเลิกกิจการ ให้มีการชำระบัญชีและยกทรัพย์สินของชมรมให้แก่สมาคมห้องสมุดแห่งประเทศไทยฯหากสมาคมเลิกกิจการพร้อมกัน ให้ชมรมโอนทรัพย์สินของชมรมให้แก่นิติบุคคลที่มีวัตถุประสงค์ เกี่ยวกับการสาธารณกุศล ตามที่คณะกรรมการบริหารชมรมพิจารณาเห็นสมควร โดยได้รับความเห็นชอบจากนิติบุคคลดังกล่าว

                        ข้อบังคับนี้ได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการบริหารชมรมห้องสมุดเฉพาะ และได้เสนอเพื่อขอความเห็นชอบและรับรองจากคณะกรรมการบริหารสมาคม ในการประชุม ครั้งที่ 4/2559 วันที่9เมษายน 2559

 

                                                                ประกาศ  ณ  วันที่ 26 พฤษภาคม 2559

                                                            (ศาสตราจารย์พิเศษ คุณหญิงแม้นมาส ชวลิต)

                                                                นายกสมาคมห้องสมุดแห่งประเทศไทยฯ

ข้อบังคับ ฉบับ ภาษาอังกฤษ

 

 

 

ติดต่อชมรม

 

Facebook ชมรม :  <<< คลิกที่นี่ >>>

 

 

ข่าวชมรม

1. จุฬา-นวัตกรรมและเทคโนโลยีใหม่กับห้องสมุดดิจิทัล


2. Digital Literacy โดย อารีย์ ชื่นวัฒนากำหนดการหลักสูตรอบรม


3. ยุคนี้ อะไรอะไร ก็ Digital โดย ดร. จอมขวัญ ผลภาษี


4. Library ชพ.


5. PITCHING YOUR LIBRARY By : Dr. Patamasuda Intuprapa

 

Attachments:
Download this file (1_Chula.pdf)1. จุฬา-นวัตกรรมและเทคโนโลยีใหม่กับห้องสมุดดิจิทัล[1. จุฬา-นวัตกรรมและเทคโนโลยีใหม่กับห้องสมุดดิจิทัล]5205 kB
Download this file (2_digitalliteracy.pdf)2. Digital Literacy โดย อารีย์ ชื่นวัฒนา[2. Digital Literacy โดย อารีย์ ชื่นวัฒนา]843 kB
Download this file (3_Jomkwan_112417.pdf)3. ยุคนี้ อะไรอะไร ก็ Digital โดย ดร. จอมขวัญ ผลภาษี[3. ยุคนี้ อะไรอะไร ก็ Digital โดย ดร. จอมขวัญ ผลภาษี]3592 kB
Download this file (4_library.pdf)4. Library ชพ.[4. Library ชพ.]1514 kB
Download this file (5_PITCHING_YOUR_LIBRARY.pdf)5. PITCHING YOUR LIBRARY By : Dr. Patamasuda Intuprapa[5. PITCHING YOUR LIBRARY By : Dr. Patamasuda Intuprapa]847 kB
Download this file (About Thai Special Libraries Group.pdf)About Thai Special Libraries Group[About Thai Special Libraries Group]334 kB
Download this file (Standard 2559.pdf)มาตรฐานห้องสมุดเฉพาะ พ.ศ.2553[มาตรฐานห้องสมุดเฉพาะ พ.ศ.2553]275 kB

ติดต่อเรา


ที่อยู่: ๑๓๔๖ ถนนอาคารสงเคราะห์ ๕ คลองจั่น บางกะปิ กรุงเทพฯ ๑๐๒๔
โทร : ๐-๒๗๓๔-๙๐๒๒, ๐๘๙-๘๙๓-๙๓๙๗ 
โทรสาร : ๐-๒๗๓๔-๙๐๒๑ www.tla.or.th
ID Line : tla2497

{source}<